Runway Condition Report (RCR)

Rookie Flight Dispatcher
5 min readJun 30, 2021

--

สวัสดีครับคุณผู้อ่านที่น่ารักของ Rookie Flight Dispatcher ในวันนี้กลับมาพบกันอีกแล้วนะครับ หลังจากที่ห่างหายกันไปนาน เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่กำลังเผชิญกันอยู่ในตอนนี้ทำให้หลายๆ สายการบินได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วย ที่ต้องหมุนเวียนเปลี่ยนย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่นชั่วคราว แต่อย่างที่ทราบกันครับว่าขณะนี้หลายๆ สายการบินได้ให้พนักงานเข้ารับการฉีดวัคซีนกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว หวังว่าเราคงจะได้กลับมาบินกันเหมือนเดิมในเร็ววันนี้ครับ

สำหรับบทความนี้ผู้เขียนขอนำผู้อ่านทุกท่านมาเตรียมตัวก่อนสักเล็กน้อย ก่อนที่จะถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นี้…ว่าแต่มันมีอะไรเหรอ?

หากผู้อ่านได้ติดตามข้อมูล AIC (Aeronautical Information Circular) ฉบับที่ 01/21 เมื่อวันที่ 8 APR 2021 ที่ทาง CAAT ประกาศออกมา คงพอจะทราบกันคร่าวๆ แล้วว่าในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นี้ เวลา 0000UTC หรือ 7 โมงเช้าตามเวลาท้องถิ่นในประเทศไทย จะมีการเริ่มใช้งาน ICAO Global Reporting Format (GRF) รูปแบบใหม่ รวมถึง SNOWTAM รูปแบบใหม่ ซึ่งได้มีการปรับปรุงให้มีรูปแบบการรายงานสภาพพื้นผิวของทางวิ่ง (Runway Surface Condition) โดยการใช้ RWYCC (Runway Condition Code) เข้ามาแทนการรายงานสภาพพื้นผิวของทางวิ่งด้วยค่าสัมประสิทธิ์เสียดทาน (Mu) แบบเดิม ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร มาตามอ่านกันไปด้วยกันนะครับ

เริ่มจากทาง ICAO ได้พยายามปรับปรุงรูปแบบของ Global Reporting Format (GRF) ในการรายงานสภาพพื้นผิวของทางวิ่ง เพื่อให้สายการบินสามารถปฏิบัติการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในการนำเอาสภาพพื้นผิวของทางวิ่งไปใช้เพื่อคำนวณประสิทธิภาพของอากาศยาน (Aircraft Performance) ในการนำเครื่องบินวิ่งขึ้น (Takeoff) และ ลงจอด (Landing) ซึ่งรายละเอียดต่างๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากเอกสารหลายฉบับมากๆ ตามที่ระบุไว้ด้านล่างนี้นะครับ

Annex 14 — Aerodromes, Volume I — Aerodrome Design and Operations;
Annex 3 — Meteorological Service for International Air Navigation;
Annex 6 — Operation of Aircraft;
- Part I — International Commercial Air Transport — Aeroplanes and
- Part II — International General Aviation — Aeroplanes;
Annex 8 — Airworthiness of Aircraft;
Annex 15 — Aeronautical Information Services;
Procedures for Air Navigation Services (PANS) — Aerodromes (PANS-Aerodromes, Doc 9981);
Procedures for Air Navigation Services (PANS) — Air Traffic Management (PANS-ATM, Doc 4444);
Procedures for Air Navigation Services (PANS) — Aeronautical Information Management (PANS-AIM, Doc 10066)

เหตุผลที่ต้องมีข้อมูลไว้ในเอกสารหลายฉบับนั้น เนื่องจากการปรับปรุง GRF ในครั้งนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเลยทีเดียวครับ ไม่ว่าจะเป็น Airport Operator, ATC, Pilot และ Flight Dispatcher อย่างเรานั่นเองครับ

โดยสาระสำคัญของการปรับปรุง GRF ในครั้งนี้คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายงานสภาพพื้นผิวทางวิ่งให้มีรูปแบบเดียวกัน ใช้เหมือนกันทั้งโลก จะได้เข้าใจเหมือนกัน และจะไม่ใช้ค่า Mu ในการรายงานแล้วนะ แต่จะใช้ค่า RWYCC (Runway Condition Code) ที่ได้จากตาราง RCAM (Runway Condition Assessment Matrix) แทน ซึ่งรวมๆ กันแล้วให้เรียกว่า RCR (Runway Condition Report)

ตาราง Runway Condition Assessment Matrix (RCAM)

โดยจะเริ่มจากทางสนามบินจะเป็นผู้ประเมินสภาพพื้นผิวทางวิ่ง โดยใช้เงื่อนไขตามตาราง RCAM จากนั้นก็จะออก RCR เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่หอบังคับการบิน ซึ่งเมื่อทางหอบังคับการบินทราบแล้วก็จะแจ้งให้นักบินทราบผ่านช่องทางที่สามารถติดต่อได้ เช่น วิทยุ เป็นต้น ซึ่งเมื่อนักบินรับทราบข้อมูลแล้วก็นำเอาไปคิด Performance ที่เหมาะสมในการปฏิบัติการบิน แต่หากเมื่อทำการบินจริงๆ แล้วพบว่า Breaking Action นั้นแย่กว่าที่ได้รับจาก RCR ก็จะเป็นหน้าที่ของ Pilot-In-Command ที่จะต้อง (Shall) ส่ง AIREPs เพื่อแจ้งข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

FLOW OF INFORMATION

ถึงตรงนี้ผู้อ่านทุกท่านคงพอมองเห็นภาพของกระบวนการรายงานสภาพพื้นผิวทางวิ่งกันแล้วนะครับ ดังนั้นในส่วนถัดไป ผู้เขียนจะพาไปดูว่า RCR หน้าตาเป็นอย่างไร และจะใช้งานอย่างไรครับ

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนนะครับว่า RCR หรือ Runway Condition Report นั้น จะประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วน คือ 1) Aeroplane Performance Calculation (APC) และ 2) Situation Awareness (SA) ครับ หน้าตาจะเป็นแบบตัวอย่างด้านล่างนี้ ซึ่งผู้เขียนนำมาจากเอกสาร EUR Doc 041 — Guidance on the Issuance of SNOWTAM

(SNOWTAM 0153
EADD
02170435 09L 5/5/5 100/100/100 NR/NR/03 WET/WET/SLUSH
02170415 09R 5/2/2 100/50/75 NR/06/06 WET/SLUSH/SLUSH
02170400 09C 2/2/2 75/75/50 06/12/12 SLUSH/SLUSH/SLUSH 40

(เว้น 1 บรรทัด)
DRIFTING SNOW. RWY 09L LOOSE SAND. RWY 09L CHEMICALLY TREATED. RWY 09R CHEMICALLY TREATED. RWY 09C CHEMICALLY TREATED.)

ส่วนที่เป็น APC คือ ด้านบนก่อนถึงเว้นบรรทัด

EADD
02170435 09L 5/5/5 100/100/100 NR/NR/03 WET/WET/SLUSH
02170415 09R 5/2/2 100/50/75 NR/06/06 WET/SLUSH/SLUSH
02170400 09C 2/2/2 75/75/50 06/12/12 SLUSH/SLUSH/SLUSH 40

ส่วนที่เป็น SA คือ ด้านล่างจากที่เว้นบรรทัด

DRIFTING SNOW. RWY 09L LOOSE SAND. RWY 09L CHEMICALLY TREATED. RWY 09R CHEMICALLY TREATED. RWY 09C CHEMICALLY TREATED.

เราจะมาเริ่มกันที่ APC ก่อนครับ ตั้งสติกันดีๆ นะครับ ผู้เขียนจะใส่ [ ] เพื่อบอกว่าส่วนใดคือ Item ใด จะได้สะดวกในการทำความเข้าใจครับ

[A]EADD
[B]02170400 [C]09C [D]2/2/2 [E]75/75/50 [F]06/12/12 [G]SLUSH/SLUSH/SLUSH [H]40

คราวนี้เรามาดูกันในแต่ละ Item นะครับ

Item A: Aerodrome location indicator (สนามบินที่รายงาน RCR) ในตัวอย่างคือ EADD

Item B: Date and Time of assessment (วันที่และเวลาที่ทำการประเมินสภาพพื้นผิวทางวิ่ง) จะอยู่ในรูปแบบของ เดือน-วันที่-ชั่วโมง-นาที เป็น UTC นะครับ ซึ่งในตัวอย่าง 02170400 ก็คือ เดือน 2 วันที่ 17 เวลา 04:00 UTC นั่นเองครับ

Item C: Lower Runway designator number (หมายเลขทางวิ่ง โดยจะใช้ทางวิ่งที่มีตัวเลขน้อยที่สุดในการรายงานเสมอ) ในตัวอย่างคือ 09C ซึ่งทางวิ่ง 09C จะมีปลายอีกฝั่งหนึ่งเป็น 27C แต่ในการรายงานจะระบุเป็นทางวิ่ง 09C เนื่องจากเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าอีกฝั่งหนึ่งนะครับ เพราะฉะนั้นเวลาทำการบินต้องพิจารณาดีๆ ซึ่งในวันนั้นอาจจะใช้ทางวิ่ง 27C ก็ได้ ดังนั้นเราจะต้องทราบว่ารายงานของทางวิ่ง 09C ก็คืออันเดียวกันกับทางวิ่ง 27C ครับ

Item D: Runway Condition Code for each runway third (ตัวเลข RWYCC ที่ได้จากตาราง RCAM นั่นแหละครับ โดยใช้หลักการแบ่งความยาวทางวิ่งออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน โดยตัวเลข 1 ตัวจะแทนค่าของแต่ละส่วนของความยาวทางวิ่งที่แบ่งไว้) ในตัวอย่างคือ 2/2/2 เมื่อไปดูตาราง RCAM จะเห็นว่ามันเป็น More than 3mm depth of water or slush: STANDING WATER, SLUSH ซึ่งในส่วนนี้เราจะยังไม่ทราบว่ามันคืออะไรระหว่าง STANDING WATER กับ SLUSH แต่เราจะทราบเพียงว่า ทั้ง 3 ส่วนของความยาวทางวิ่ง มี RWYCC เป็น 2 เหมือนกันทั้งหมด

Item E: Per cent coverage (อัตราการครอบคลุมของ Condition จาก Item D โดยถ้าหาก Item D ไม่ได้มีค่าเป็น 6 จะต้องมีการระบุ Per cent coverage เสมอ ซึ่งจะใช้ค่าต่อไปนี้

NR : น้อยกว่า 10% หรือ DRY

25 : 10%–25%

50: 26%-50%

75: 51%-75%

100: 76%-100%

จากตัวอย่างเป็น 75/75/50 หมายความว่า

ส่วนที่ 1 ของระยะทางวิ่ง มี RWYCC 2 Coverage 51%-75%

ส่วนที่ 2ของระยะทางวิ่ง มี RWYCC 2 Coverage 51%-75%

ส่วนที่ 3 ของระยะทางวิ่ง มี RWYCC 2 Coverage 26%-50%

Item F: Depth of loose contaminant (ความลึกของ Runway Condition นั้นๆ มีหน่วยเป็น มิลลิเมตร (mm) โดยจะระบุเป็นตัวเลข 2–3 หลัก ซึ่งในตัวอย่างเป็น 06/12/12 หมายถึง

ส่วนที่ 1 ของระยะทางวิ่ง มี RWYCC 2 Coverage 51%-75% ความลึก 6 มิลลิเมตร

ส่วนที่ 2ของระยะทางวิ่ง มี RWYCC 2 Coverage 51%-75% ความลึก 12 มิลลิเมตร

ส่วนที่ 3 ของระยะทางวิ่ง มี RWYCC 2 Coverage 26%-50% ความลึก 12 มิลลิเมตร

Item G: Condition description (บรรยายลักษณะของสภาพพื้นผิวทางวิ่ง) โดยในตัวอย่างคือ SLUSH/SLUSH/SLUSH หมายความว่า

ส่วนที่ 1 ของระยะทางวิ่ง มี RWYCC 2 Coverage 51%-75% ความลึก 6 มิลลิเมตร เป็น SLUSH

ส่วนที่ 2ของระยะทางวิ่ง มี RWYCC 2 Coverage 51%-75% ความลึก 12 มิลลิเมตร เป็น SLUSH

ส่วนที่ 3 ของระยะทางวิ่ง มี RWYCC 2 Coverage 26%-50% ความลึก 12 มิลลิเมตร เป็น SLUSH

ซึ่งจะทำให้เราทราบแล้วว่าสิ่งที่ RWYCC ระบุไว้ใน Item D คืออะไร ซึ่งในตัวอย่างเป็น SLUSH ทั้ง 3 ส่วนของความยาวทางวิ่ง

Item H: Width of runway to which the Runway Condition Codes apply (ในกรณีที่ RWYCC นั้นๆ ไม่ได้มีผลกับความกว้างทั้งหมดของทางวิ่ง ก็จะมีการระบุไว้ว่าจริงๆ แล้ว RWYCC นั้นๆ มีความครอบคลุมความกว้างเท่าใดของทางวิ่งนั้นๆ มีหน่วยเป็นเมตร (m)) จากตัวอย่าง ระบุว่า 40 หมายถึง RWYCC 2 ที่ระบุไว้นั้นครอบคลุมความกว้างของทางวิ่ง 09C แค่ 40 เมตรเองนะ (ซึ่งทางวิ่ง 09C อาจจะกว้าง 60 เมตร เป็นต้น)

จบไปแล้วนะครับในส่วนของ APC ซึ่งผู้เขียนจะต่อด้วยส่วนของ SA เลยนะครับ ซึ่งในส่วนนี้จะง่ายกว่าในของ APC เล็กน้อยครับ เนื่องจากจะเป็นข้อความที่มนุษย์ทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจได้ โดยจะมีลักษณะดังนี้

ส่วนของ SA จะอยู่ด้านล่างบรรทัดที่เว้นว่างไว้หลังจากสิ้นสุดส่วนของ APC แล้ว

ทุกๆ SA จะสิ้นสุดด้วย Full Stop (.) หรือ จุด เสมอ

เรามาดูกันในแต่ละ SA เลยดีกว่าครับ

  1. Reduce runway length [ตัวอย่าง: RWY 09C REDUCED TO 2800.] เป็นการระบุว่าระยะทางวิ่งลดลงเหลือระยะทางเท่าใด (หน่วยเป็นเมตร)
  2. Drifting snow on the runway [ตัวอย่าง: DRIFTING SNOW. หรือ RWY 09C DRIFTING SNOW.] เป็นการระบุว่ามี Drifting snow บนทางวิ่ง (ระบุหมายเลขทางวิ่ง) แต่ในกรณีที่ไม่ระบุหมายเลขทางวิ่งหมายถึง มีผลทั้งสนามบิน
  3. Loose sand on the runway [ตัวอย่าง: RWY 09C LOOSE SAND.] เป็นการระบุว่ามี Loose sand บนทางวิ่ง
  4. Chemical treatment on the runway [ตัวอย่าง: RWY 09C CHEMICAL TREATED.] เป็นการระบุว่ามีการใช้สารเคมีบนทางวิ่ง
  5. Snow banks on the runway [ตัวอย่าง: RWY 09C SNOW BANK L12 FM CL.] เป็นการระบุว่ามี Snow bank บนทางวิ่ง หรือในกรณีที่ต้องการระบุเพิ่มเติมว่า Snow Bank นั้นกินพื้นที่เท่าใดจาก Runway Center Line สามารถระบุด้วย L หรือ R ได้ (ในกรณีที่เป็นทั้ง 2 ฝั่ง ให้จะระบุโดยใช้ LR) แล้วตามด้วยตัวเลขเป็นเมตร จากตัวอย่างหมายถึง ทางวิ่ง 09C มี Snow Bank ครอบคลุมพื้นทางจาก Center Line ไปทางซ้าย 12 เมตร
  6. Snow banks on a taxiway [ตัวอย่าง: TWY B SNOW BANK.] เป็นการระบุว่ามี Snow bank บนทางขับ
  7. Snow banks on adjacent to the runway [ตัวอย่าง: RWY 09C ADJ SNOW BANKS.] เป็นการระบุว่ามี Snow bank อยู่ติดกับทางวิ่ง
  8. Taxiway conditions [ตัวอย่าง: TWY B POOR. หรือ ALL TWYS POOR.] เป็นการระบุสภาพของทางขับในกรณีที่ POOR ซึ่งสามารถระบุเป็นแต่ละ Taxiway หรือ ทุกๆ Taxiway ได้
  9. Apron conditions [ตัวอย่าง: APRON 1 POOR.] เป็นการระบุสภาพของ APRON ในกรณีที่ POOR ซึ่งในกรณีนี้จะต้องพิจารณา Aerodrome Chart ประกอบ เพื่อดูว่า Apron ในสนามบินนั้นๆ ชื่ออะไร อยู่ตรงไหนบ้าง
  10. Plain language remark (ข้อความหมายเหตุ เป็นภาษาปกติที่เข้าใจได้โดยทั่วไป)

สำหรับส่วนของ SA ก็จบไว้แต่เพียงเท่านี้นะครับ เชื่อว่าคุณผู้อ่านจะสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่าส่วนของ APC แน่นอนครับ

อยู่ด้วยกันมายาวนานเลยนะครับ หวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณผู้อ่านทุกท่านนะครับ เพื่อที่จะได้เตรียมตัวก่อนที่จะมีการใช้งาน GRF ในประเทศไทยวันที่ 4 NOV 2021 ที่จะถึงนี้ครับ (ซึ่งตอนนี้มีบางประเทศเริ่มใช้งานไปก่อนแล้ว)

สำหรับบทความต่อไปจะเป็นเรื่องอะไร อย่าลืมติดตามกันนะครับ และผู้อ่านทุกท่านสามารถเข้ามาพูดคุยกันได้ที่ Facebook Fanpage: Rookie Flight Dispatcher ครับ

วันนี้ขอตัวลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่นะครับ ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงครับ

--

--

Rookie Flight Dispatcher

Flight Dispatcher มือใหม่ หัวใจเกินร้อย