เขตหวงห้าม เขตห้ามหวง
สวัสดีครับคุณผู้อ่านที่น่ารักของ Rookie Flight Dispatcher วันพุธกลางสัปดาห์ กลางเดือนแบบนี้ หลายๆ ธุรกิจยังคงประสบกับปัญหาต่างๆ จากผลกระทบของไวรัส โควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ซึ่งธุรกิจการบินเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักกันเลยทีเดียวครับ ในตอนนี้หลายๆ สายการบินก็ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด รอวันที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ในส่วนนี้ทาง Rookie Flight Dispatcher ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ ท่าน ทุกๆ ธุรกิจนะครับ ขอให้สามารถก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ในเร็ววันครับ
ในวันนี้ Rookie Flight Dispatcher เห็นประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด พื้นที่หวงห้ามเฉพาะ และพื้นที่อันตราย พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา จึงอยากทบทวนเรื่องราวของพื้นที่ต่างๆ ตามประกาศฯ สักเล็กน้อย นำมาเล่าสู่กันฟังเป็นสาระเบาๆ ให้คุณอ่านของ Rookie Flight Dispatcher ได้รู้ถึงความแตกต่างของแต่ละพื้นที่กันครับ
อย่างที่ทุกท่านทราบกันว่าบนท้องฟ้า จริงๆ แล้วก็มีถนนให้เครื่องบิน บินไป บินมา กันมากมายหลายเส้นทางเลยนะครับ แต่ก็ใช่ว่าเครื่องบินเหล่านี้จะบินไปไหนมาไหนเองได้ตามใจชอบ เนื่องจากบางพื้นที่มีความสำคัญ เป็นความลับของประเทศ หรือเป็นพื้นที่อันตรายต่อการบิน ดังนั้น รัฐเจ้าของพื้นที่ (เรียกเท่ๆ ว่า State) สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในการกำหนดพื้นที่เหล่านั้นไว้ มิให้เครื่องบินบินผ่านได้ หรืออาจอนุญาตให้บินผ่านได้ในบางกรณีก็ย่อมได้เช่นกัน โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
Prohibited Area — พื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด
Restricted Area — พื้นที่หวงห้ามเฉพาะ
Danger Area — พื้นที่อันตราย
ในเอกสาร ICAO Annex 2: Rules of The Air ได้ให้นิยามพื้นที่ต่างๆ ไว้ดังนี้
Prohibited Area: An airspace of defined dimensions, above the land areas or territorial waters of a State, within which the flight of aircraft is prohibited.
แปลเป็นภาษาไทยว่า ห้วงอากาศที่ถูกกำหนดไว้เหนือพื้นดิน หรือ พื้นน้ำ ของรัฐเจ้าของประเทศ ต้องห้ามสำหรับอากาศยาน
แปลไทยเป็นไทยอีกที ก็คือ พื้นที่ที่ห้ามเครื่องบิน บินเข้าไปโดยเด็ดขาด นั่นเองครับ
Restricted Area: An airspace of defined dimensions, above the land areas or territorial waters of a State, within which the flight of aircraft is restricted in accordance with certain specified conditions.
แปลเป็นภาษาไทยว่า ห้วงอากาศที่ถูกกำหนดไว้เหนือพื้นดิน หรือ พื้นน้ำ ของรัฐเจ้าของประเทศ ซึ่งอากาศยานถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขที่ระบุไว้
แปลไทยเป็นไทยอีกที ก็คือ พื้นที่ที่เครื่องบินอาจจะบินเข้าไปได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ (เดี๋ยวค่อยไปดูตัวอย่างนะครับ)
Danger Area: An airspace of defined dimensions within which activities dangerous to the flight of aircraft may exist at specified times.
แปลเป็นภาษาไทยว่า ห้วงอากาศที่ถูกกำหนดให้มีกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่ออากาศยานในช่วงเวลาที่ระบุไว้
แปลไทยเป็นไทยอีกที ก็คือ พื้นที่ที่อาจมีการทำอะไรบางอย่างตามช่วงเวลาที่ระบุไว้ ซึ่งหากเครื่องบินที่บินผ่านไปในพื้นที่นั้นๆ อาจเกิดอันตรายได้
คำว่า “พื้นที่” หรือ “ห้วงอากาศ” นั้น อยากให้คุณผู้อ่านนึกถึงรั้วบ้านครับ ซึ่งในทางการบินพื้นที่ที่ล้อมรั้วบ้านไว้ ไม่ได้มีแค่ด้านกว้างกับยาวเท่านั้น แต่ยังมีความสูงด้วย
ดังนั้นในฐานะ Flight Dispatcher เวลาที่เราจะวางแผนการบินผ่านพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Prohibited, Restricted หรือ Danger Area ก็ตาม ต้องศึกษาเงื่อนไข ข้อกำหนดต่างๆ จาก AIP ของประเทศนั้นๆ ให้ดีและชัดเจน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสำหรับนักบินในการปฏิบัติการบิน
สำหรับประเทศไทย สามารถศึกษาได้จาก AIP Thailand Part 2, En-Route (ENR) 5 NAVIGATION WARNINGS, หัวข้อ ENR 5.1 PROHIBITED, RESTRICTED, DANGER AREAS
เอาหล่ะครับ เราลองมาดูตัวอย่างของประเทศไทยกันนะครับ
สำหรับพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด (Prohibited Area) จะกำหนดด้วยรหัส VT PX (X เป็นหมายเลขของแต่ละพื้นที่นั้นๆ) เช่น VT P7 Sattahip
รายละเอียดจาก AIP จะบอกว่า พื้นที่ VT P7 มีรัศมี 4 NM จากจุดศูนย์กลางพิกัด 123845N1005300E ความสูงตั้งแต่พื้น จนถึง UNL (ไม่มีที่สิ้นสุด) นั่นคือ ห้ามบินผ่านโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะความสูงใดๆ ก็ตาม ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดจะพบว่า
Type of restriction: Naval Base (ฐานทัพเรือ)
Nature of Hazzard, activity: National security area (พื้นที่ความมั่นคงของชาติ)
Time of activity: H24 (Active ตลอด 24 ชั่วโมง)
Permission to entry: ต้องได้รับการอนุญาตจากกองทัพเรือ (Royal Thai Navy)
แล้วก็จะให้ข้อมูล Inflight information กับ Contact agency เอาไว้ติดต่อประสานงานครับ
ถ้าลองส่องๆ ดูใน Enroute Chart จะเห็นลักษณะแบบนี้ครับ ถ้าเราไม่ทราบว่า VTP-07 คืออะไร ก็เอามาไล่หาใน AIP ดูครับ
สำหรับพื้นที่หวงห้ามเฉพาะ (Restricted Area) จะกำหนดด้วยรหัส VT RX (X เป็นหมายเลขของแต่ละพื้นที่นั้นๆ) เช่น VT R1 Bangkok City
เป็นพื้นที่ใจกลางมหานครกรุงเทพฯ นะครับ รัศมี 10 NM รอบพิกัด 134554N1003218E ความสูงตั้งแต่ พื้น จนถึง 3000 ฟุต กำหนดไว้เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่น ตลอด 24 ชั่วโมง หากต้องการจะเข้าไปบินพื้นที่ VT R1 ที่ความสูงต่ำกว่า 3000 ฟุต จะต้องได้รับอนุญาตจาก กพท. (CAAT) ก่อน จึงจะสามารถทำการบินไปได้ (อาจเป็นเพราะกลัวเครื่องบินไปตกใส่ใจกลางเมืองนะครับ)
แต่หากบินผ่านพื้นที่ดังกล่าวที่ความสูงมากกว่า 3000 ฟุต สามารถบินผ่านไปได้เลยครับ เนื่องจากเกินกว่า Dimension ที่กำหนดไว้
ในแผนที่จะเป็นแบบนี้ครับ
อันสุดท้ายจะเป็น พื้นที่อันตราย (Danger Area) จะกำหนดด้วยรหัส VT DX (X เป็นหมายเลขของแต่ละพื้นที่นั้นๆ) เช่น VT D20 Hua Hin
ส่วนนี้เป็นพื้นที่ฝึกบินของสถาบันการบินพลเรือน หัวหิน (สนามบินบ่อฝ้าย) ครับ จะมีการกำหนดพื้นที่ไว้ด้วยพิกัด สามารถนำมา Plot ตำแหน่งหาพิกัดอย่างง่ายด้วยบทความ การวางจุดพิกัดอย่างง่ายเพื่อวางแผนการบิน ของทาง Rookie Flight Dispatcher เองครับ โดยกำหนดความสูงตั้งแต่ พื้น จนถึง 11000 ฟุต โดยจะมีการฝึกตั้งแต่ช่วงพระอาทิตย์ขึ้น จนถึง พระอาทิตย์ตก หากจะบินเข้าไปในช่วงเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกนั้น ต้องระมัดระวังเครื่องบินที่กำลังฝึกบินอยู่ด้วยนะครับ (จริงๆ ATC เค้าก็ดูให้แหละครับ ไม่ให้ชนหรอก แต่เราก็ต้องปฏิบัติตามกฏนะครับ)
นี่ครับ VT D20 กินพื้นที่กว้างพอสมควรเลยนะครับ
สำหรับสัญลักษณ์ใน Chart จะเป็นแบบนี้นะครับ (เผื่อใครไปหาดูพื้นที่อื่นๆ)
ทั้งนี้ ทั้งนั้น บรรดาพื้นที่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด พื้นที่หวงห้ามเฉพาะ หรือพื้นที่อันตราย จะมีผลกับเฉพาะการบินในภาคของพลเรือน (Civil Aviation) เท่านั้นนะครับ ไม่รวมถึงปฏิบัติการทางทหาร (Military Operations) นะครับ
สรุปนะครับ Prohibited Area ห้ามบินเข้าไปโดยเด็ดขาด ส่วน Restricted Area มีเงื่อนไขในการบินเข้าไป ซึ่งต้องขออนุญาตก่อนบินเข้าไปในพื้นที่ และสุดท้าย Danger Area บินเข้าไปได้ แต่ต้องระมัดระวังอันตรายจากการทำกิจกรรมในช่วงเวลาที่ระบุไว้ ทั้งนี้มีผลเฉพาะการบินพลเรือนเท่านั้น ไม่ร่วมถึงปฏิบัติการทางทหารครับ
ทุกครั้งที่พูดถึงเขตหวงห้าม ผู้เขียนก็จะนึกถึงเพลง เขตห้ามหวงเสมอ เพราะฉะนั้นสำหรับวันนี้ก็ขอลากันไปด้วยเพลง เขตห้ามหวง นะครับ หากคุณผู้อ่านมีข้อเสนอแนะ ติชม แนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ Facebook Fanpage: Rookie Flight Dispatcher นะครับ แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าครับ